วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ
1. แหล่งน้ำธรรมชาติ พื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูทั้งหมดอยู่ในเขตลุ่มน้ำใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ลุ่มน้ำด้วยกัน คือ
- เขตลุ่มน้ำชี ได้แก่ พื้นที่ในเขตอำเภอโนนสัง อำเภอศรีบุญเรือง และอำเภอนากลางบางส่วน
- เขตลุ่มน้ำโขง ได้แก่ พื้นที่ในเขต อำเภอเมือง อำเภอสุวรรณคูหา และอำเภอนากลางบางส่วน
นอกจากนี้ยังมีบึงและหนองน้ำธรรมชาติ กระจัดกระจายอยู่ในตอนล่างของจังหวัดโดยเฉพาะในเขตอำเภอโนนสัง

2. แหล่งน้ำชลประทาน จังหวัดหนองบัวลำภู มีแหล่งน้ำชลประทานที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วจนถึงปี 2543 รวมทั้งสิ้น 3,951 โครงการ ซึ่งในจำนวนนี้มีโครงการชลประทานขนาดกลางเพียง 1 โครงการเท่านั้น คือ อ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายาง บ้านภูพานทอง ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง ซึ่งมีขนาดความจุประมาณ 2.14 ล้านลูกบาศก์เมตรและมีพื้นที่รับประโยชน์รวมกันประมาณ 2,000 ไร่ และโครงการที่เหลืออื่น ๆ จะเป็นโครงการขนาดเล็ก ซึ่งมีขนาดความจุรวมกันประมาณ 59,399,832 ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์รวมกันประมาณ 63,391 ไร่


3. น้ำอุปโภคบริโภค
ในปี 2542 จังหวัดหนองบัวลำภู มีประชากรในเขตเมือง (เทศบาลเมืองหนองบัวลำภู) 21,542 คน มีความต้องการน้ำกินและน้ำใช้ ในเขตเมืองประมาณ 107,710 ลิตร และ 4,308,400 ลิตร และประชากรนอกเขตเมือง 473,505 คน มีความต้องการน้ำกินและน้ำใช้นอกเขตเมืองประมาณ 2,367,525 ลิตร และ 21,307,725 ลิตร ตามลำดับ


4. น้ำเพื่อการเกษตร
แหล่งน้ำที่ประชาชนชาวจังหวัดหนองบัวลำภูใช้เพื่อการเกษตร ส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งน้ำผิวดินตามธรรมชาติและที่สร้างขึ้น เช่น อ่างฯเก็บน้ำ ลำห้วย หนองน้ำ สระน้ำ ฝาย ทำนบ คลองส่งน้ำชลประทาน และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ฯลฯ





แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ
จังหวัดระยอง มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ คือ แม่น้ำระยอง คลองลาวและคลองแกลง โดยมีแหล่งน้ำใหญ่ ๆ ดังนี้  แม่น้ำระยอง หรือคลองใหญ่ มีความยาว 50 กิโลเมตร พื้นที่ลุ่มน้ำ 2,300 ตร.กม. มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขากองซองและเขาพนมศาสตร์ ซึ่งไหลมาตามห้วยต่าง ๆ หลายสาย แล้วมารวมกันเรียกว่า แม่น้ำระยองหรือคลองใหญ่ ไหลลงทะเลที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง  คลองทับมา มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาต่าง ๆ เช่น เขาจอมแห เขาเกตุ เขากระบอก ซึ่งไหลมาตามห้วยและคลองต่าง ๆ เช่น คลองชากใหญ่ คลองหนองคล้า และคลองช้างตาย ไหลมารวมกันมีความยาวประมาณ 12 กิโลเมตร และไหลลงสู่แม่น้ำระยองที่บ้านเกาะลอย อำเภอเมือง  คลองดอกกราย มีต้นน้ำจากเขาชากกล้วย ในเขตอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ไหลลงคลองหนองปลาไหล ก่อนที่น้ำจะบรรจบกับคลองใหญ่ คลองดอกกราย ยาวประมาณ 50 กิโลเมตร  คลองหนองปลาไหล มีต้นน้ำกำเนิดจากเทือกเขาน้ำโจน เขาชมพู และเขาเรือนตกในเขตจังหวัดชลบุรี ซึ่งไหลมาตามห้วยและคลองต่าง ๆ เช่น คลองระเวิง คลองกร่ำ คลองปลวกแดง แล้วไหลมารวมกันเรียกว่า คลองหนองปลาไหล แล้วไหลลงคลองใหญ่ที่บ้านหัวทุ่ง ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง มีความยาวประมาณ 42 กิโลเมตร  คลองโพล้ ต้นน้ำเกิดจากเขาชะมูน เขาชะเอม และเขาปลายคลองโพล้ ซึ่งไหลมารวมกัน มีความยาวประมาณ 38 กิโลเมตร แล้วไหลลงสู่แม่น้ำประแสร์ ที่บ้านท่ากระชาย อำเภอแกลง จังหวัดระยอง  แม่น้ำประแสร์ มีต้นน้ำเกิดจากเขาใหญ่ เขาอ่างฤาใน เขาหินโรง เขาอ่างกระเด็น ซึ่งไหลมาตามห้วยและคลองต่าง ๆ หลายสาย เช่น คลองประแสร์ คลองปลิง คลองบ่อทอง ห้วยหินคม คลองเจว็ด คลองตากล้วย คลองชุมแสง คลองไผ่เหนือ คลองไผ่ใต้ คลองตวาด คลองพังหวาย คลองจำกา คลองใช้ คลองแหวน คลองโพล้ คลองท่าสี-แก้ว และคลองหนองพลง ไหลมารวมกันที่จังหวัดระยอง  คลองระโอก มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาชะเมา ซึ่งไหลมาตามคลองต่าง ๆ เช่น คลองเขาจุก คลองสะท้อน คลองน้ำเป็น ไหลมารวมกันเรียกว่า คลองระโอก มีความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วไหลลงสู่คลองโพล้ ที่บ้านเนินสุขสำราญ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง



ประเภทของแหล่งน้ำ
น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ของมนุษย์นั้นอาจจะเป็นทั้งน้ำจืดจากแหล่งต่างๆ และน้ำทะเล สามารถจำแนกรายละเอียดได้ดังต่อนี้ 1. แหล่งน้ำผิวดิน ได้แก่ น้ำจากแม่น้ำต่างๆ ลำน้ำธรรมชาติต่างๆ ห้วย หนองน้ำ คลอง บึง ตลอดจน อ่างเก็บน้ำ บริเวณดังกล่าวนับว่าเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญที่สุด น้ำจืดที่แช่ขังอยู่ตามแอ่งน้ำบนผิวโลกมาจากน้ำฝน หิมะ การไหลซึมออกมาจากน้ำใต้ดินแล้วไหลไปรวมกันตามแม่น้ำลำคลอง ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในแม่น้ำลำคลองของแต่ละแห่งบนพื้นโลกมีมากน้อยแตกต่างกันออกไป ลำน้ำอาจจะมีมากในช่วงฤดูหนึ่ง แต่ในช่วงฤดูอื่นๆ ปริมาณน้ำจะลดน้อยลงไป ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยสำคัญดังนี้ (1) สภาพความผันแปรของปริมาณน้ำฝน (2) ลักษณะภูมิประเทศ (3) โครงสร้างของดินเท่าที่ผ่านมาแหล่งน้ำผิวดินเป็นทรัพยากรสาธารณะที่ไม่ต้องมีการซื้อขาย จึงทำให้มีการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย ประกอบกับจำนวนประชากรซึ่งใช้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กิจการอุตสาหกรรมและการเกษตรกรรม ซึ่งใช้น้ำในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ไม่มีการนำน้ำที่ใช้แล้วกลับไปใช้อีก แต่จะระบายน้ำทิ้งลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง ซึ่งทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำเช่นเดียวกับคุณภาพของน้ำผิวดินก็เสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด ภาครัฐบาลและเอกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงมีแนวความคิดที่จะพัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน
2. แหล่งน้ำใต้ดิน (Underground water) น้ำใต้ดินเกิดจากน้ำผิวดินซึมผ่านดินชั้นต่าง ๆ ลงไปถึงชั้นดินหรือหินที่น้ำซึมผ่านไม่ได้ (Impervious rocks) น้ำใต้ดินนี้จะไปสะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างของเนื้อดิน โดยเฉพาะชั้นดินเป็นกรวด ทราย หิน ปริมาณของน้ำที่ขังอยู่ในชั้นของดินหรือชั้นของหินดังกล่าวจะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้นในฤดูฝน และลดปริมาณลงในฤดูแล้ง ปกติน้ำใต้ดินจะมีการไหล (run-off) ถ่ายเทระดับได้เช่นเดียวกับน้ำผิวดิน ในเขตชนบทได้อาศัยน้ำใต้ดินเป็นน้ำดื่ม เนื่องจากแหล่งน้ำใต้ดินเป็นแหล่งน้ำที่สะอาด โดยน้ำที่ขังอยู่ใต้ดินมาจากน้ำฝนที่ซึมผ่านการกรองของชั้นดิน หิน กรวด ทราย มาหลายชั้นแล้ว แหล่งน้ำใต้ดินมี 2 ประเภท (1) น้ำใต้ดินชั้นบนหรือน้ำในดิน พบในชั้นดินตื้น ๆ น้ำจะขังตัวอยู่ระหว่างชั้นดินที่เนื้อแน่นเกือบไม่ซึมน้ำอยู่ไม่ลึกจากผิวดินมากนัก น้ำใต้ดินประเภทนี้จะมีปริมาณมากในฤดูฝนและลดลงในฤดูแล้ง น้ำในชั้นนี้มีออกซิเจนละลายอยู่พอประมาณ จะมีสารแขวนลอยอยู่มาก ความขุ่นมาก (2) น้ำบาดาล เป็นน้ำใต้ดินที่อยู่ลึกลงไป โดยซึมผ่านชั้นดินและชั้นหินต่าง ๆ ไปขังตัวอยู่ช่องว่างระหว่างชั้นดินหรือชั้นหินซึ่งไม่ยอมให้น้ำผ่านไปได้อีก น้ำใต้ดินประเภทนี้เป็นน้ำใต้ดินที่แท้จริงเรียกว่า Underground water หรือที่เรียกว่าน้ำบาดาล น้ำบาดาลจะเป็นน้ำที่มีคุณภาพดี เพราะไหลผ่านชั้นดินและชั้นหิน ซึ่งทำหน้าที่คล้ายการกรองน้ำธรรมชาติ มีลักษณะเป็นระบบท่อประปาที่สมบูรณ์
3. แหล่งน้ำจากทะเล ทะเลและมหาสมุทรเป็นแหล่งกำเนิดใหญ่ของวงจรน้ำในโลก ซึ่งหากขาดวงจรดังกล่าวแล้ว พื้นดินก็จะขาดความอุดมชุ่มชื้น ขณะเดียวกันกระแสน้ำในมหาสมุทรก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดสภาพภูมิอากาศรอบโลกด้วย เช่น กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมทำให้ยุโรปตะวันตกตอนเหนือมีสภาพภูมิอากาศอบอุ่นแทนที่จะเย็นมาก ๆ เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ใกล้เขตขั้วโลกเหนือ หรือกระแสน้ำเย็นเบงกิวลา ทำให้บริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา กลายเป็นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารสำหรับปลานานาชนิด เช่นเดียวกับบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ที่มีกระแสน้ำเย็นและน้ำอุ่นมาบรรจบกัน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีสารอาหารสมบูรณ์ มีแพลงก์ตอนพืชและแพลงค์ตอนสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่จำนวนมาก มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์มากมายจากทะเล ไม่ว่าจะเป็นอาหารจำพวกโปรตีน การใช้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สะดวกและประหยัด หรือทรัพยากรใต้ทะเลจำพวกน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุอื่น ๆ ที่ขุดเจาะมาใช้ประโยชน์ เช่น แมงกานีส ดีบุก อย่างไรก็ตามแม้ว่าทะเลจะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง แต่เนื่องจากมีแร่ธาตุสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้น้ำทะเลมีรสเค็ม ดังนั้นบริเวณที่ขาดแคลนน้ำจืดที่อยู่ใกล้กับทะเล จึงพยายามนำน้ำทะเลมาแปรสภาพให้กลายเป็นน้ำจืดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน กิจการอุตสาหกรรม การชลประทาน แต่ ค่าใช้จ่ายในการทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดนั้นราคาแพงกว่าการทำน้ำจืดให้บริสุทธิ์
4. แหล่งน้ำจากฟ้า น้ำจากฟ้าหรือน้ำฝน เป็นน้ำโดยตรงที่ได้รับจากการกลั่นของไอน้ำในบรรยากาศ น้ำฝนเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญที่มนุษย์ใช้ในการอุปโภคบริโภคอีกชนิดหนึ่ง ในประเทศไทย พบว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละปีประมาณ 800,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นน้ำท่าประมาณ 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เหลือไหลลงสู่ใต้ดินและระเหยคืนสู่บรรยากาศ ปริมาณน้ำที่สามารถเก็บกักไว้ได้ในรูปของอ่างเก็บน้ำ ทั้งที่เป็นของกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตรวมกันประมาณ 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม,2536) ปริมาณน้ำจืดที่ได้จากน้ำฝนในแต่ละบริเวณจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ (1) สภาพลมฟ้าอากาศ (2) ลักษณะภูมิประเทศ (3) ทิศทางของลม (4) ความสม่ำเสมอของฝนที่ตก (5) การกระจายของปริมาณน้ำฝน (6) อิทธิพลอื่น ๆ เช่น ฤดูกาล พื้นที่ป่าไม้



ทรัพย์ยากรแหล่งน้ำ
ความสำคัญของแหล่งน้ำ
น้ำ จัดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกายมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิต เช่น พืช สัตว์ ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และรักษาสมดุล ของระบบนิเวศ


ทรัพยากรแหล่งน้ำ
วิกฤตการณ์การขาดแคลนน้ำจากสาเหตุต่างๆ เช่น ความต้องการน้ำใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น ความต้องการน้ำใช้ในกิจกรรมต่างๆ มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ความสมดุลของทรัพยากรน้ำระหว่างฤดูแล้งและฤดูฝนไม่สมดุล รวมถึงการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ที่ขาดแผนการใช้ที่รัดกุมและเหมาะสม รวมทั้งขาดองค์กรระดับชาติที่จะเข้ามาบริหารจัดการแหล่งน้ำ ตลอดจนแหล่งน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันมีสภาพเสื่อมโทรม เน่าเสีย คุณภาพไม่เหมาะสม ไม่สามารถนำมาใช้ได้ จากปัญหาที่กล่าวมานี้ เกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น
1. สภาพแหล่งต้นน้ำลำธารถูกทำลาย การบุกรุกทำลายแหล่งน้ำ ส่งผลให้ พื้นที่ต้นน้ำลำธารอันเป็นแหล่งกำเนิดน้ำ ไม่สามารถดูดซับหรือชะลอน้ำไว้ในดิน เมื่อเกิดฝนตกหนักจึงทำให้มีน้ำไหลบ่าลงมาท่วมพื้นที่ตอนล่างอย่างรวดเร็วและรุนแรง
2. สภาพน้ำท่า เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกชุก ในทุกๆ ภาคของประเทศมี ปริมาณน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่ามีปริมาณลดลงไปด้วย
3. การใช้น้ำและความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นในทุกลุ่มน้ำ กิจกรรมต่างๆ ทั้งทาง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม อุปโภคและบริโภค การท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาด้านสังคมและวัฒนธรรมล้วนเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น
4. การบุกรุกทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ การขยายตัวของบ้านจัดสรรโรงงาน อุตสาหกรรม การพัฒนาการคมนาคมขนส่ง โดยขาดการวางแผน


การอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ
1. ให้มีการศึกษาวางแผนการจัดการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น โครงการผันน้ำ โครงการเขื่อนเก็บกักน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นการรองรับการใช้น้ำระยะยาว ซึ่งการวางแผนต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งทางด้านสังคมและสภาพแวดล้อมต้องมีการกำหนดนโยบายและแผนการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
2. กำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ โดยให้มีการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ของการใช้ทรัพยากรน้ำในระยะยาว รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้และดูแลรักษาป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ แหล่งน้ำและต้นน้ำลำธาร รวมถึงการควบคุมอย่างเข้มงวดและการมีบทลงโทษอย่างรุนแรงต่อการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำลำธาร
4. ให้ความสำคัญในการปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดเล็ก รวมถึงการระมัดมะวังมิให้ นำพื้นที่ชลประทาน แหล่งน้ำธรรมชาติ ระบบชลประทานมาใช้เพื่อประโยชน์อื่น
5. เสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ การใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้มีวินัยในการใช้น้ำอย่างถูกต้อง รวมทั้งการอนุรักษ์น้ำอย่างถูกวิธี ในช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าของทรัพยากรน้ำ


แหล่งน้ำเพื่อการชลประทาน
น้ำฝนเป็นต้นกำเนิดของน้ำที่ปรากฎบนผิวโลก เมื่อฝนตกมาบนพื้นดินจะมีน้ำบางส่วนขังบนผิวดิน และบางส่วนซึมลงไปสะสมอยู่ในดิน ทำให้เกิดเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติในดิน ที่อำนวยประโยชน์ให้กับพืชโดยตง เมื่อมีฝนตกมากน้ำไม่สามารถขังอยู่ได้บนผิวดิน และซึมลงไปในดินได้ทั้งหมด ก็จะเกิดเป็นน้ำไหลนองไปบนผิวดิน จากนั้นจะไหลลงสู่ที่ลุ่ม ที่ต่ำ ลำน้ำ ลำธาร แม่น้ำ แล้วจึงไหลลงสู่ทะเล และมหาสมุทร ต่อไป น้ำในดินและน้ำที่ขังอยู่บนผิวดินซึ่งได้จากฝนโดยตรงนั้น จะมีอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอได้ก็ต้องอาศัยจากฝนที่ตกลงมาอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน หากฝนไม่ตกแล้วในการเพาะปลูกก็จำเป็นต้องมีน้ำจากแหล่งน้ำอื่นมาเพิ่มเติมให้โดยธรรมชาติ หรือโดยวิธีการชลประทาน พืชจึงจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอกับความต้องการ การทำงานชลประทานทุกแห่งจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำธรรมชาติสำหรับเป็นน้ำต้นทุนเพื่อจัดส่งไปยังพื้นที่เพาะปลูก ถ้าพื้นที่เพาะปลูกไม่มีแหล่งน้ำใด ๆ ให้นำมาใช้ได้ ย่อมไม่สามารถทำการชลประทานช่วยเหลือได้ หรือแหล่งน้ำมีปริมาณน้อย ก็จะช่วยเหลือพื้นที่ได้น้อยด้วยเช่นกันแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการชลประทาน ได้แก่ แหล่งน้ำบนผิวดิน และ แหล่งน้ำใต้ผิวดิน
แหล่งน้ำบนผิวดิน
แม่น้ำ ลำธาร ห้วย หนอง คลอง และบึง ฯลฯ เป็นแหล่งน้ำบนผิวดิน เป็นแหล่งรวบรวมน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้จากน้ำที่ไหลมาบนผิวดิน และบางส่วนซึมออกมาจากดิน เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่จะอำนวยให้ทำการชลประทานขนาดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี น้ำที่จะมีในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำธาร นั้น ย่อมแตกต่างกันไปตามฤดูกาล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า มีฝนตกในเขตของลุ่มน้ำอันนั้นหรือไม่ หรือว่าตกจำนวนมากน้อยเพียงไร บางวันอาจมีน้ำไหลมาในลำน้ำมากเพราะเกิดฝนตกหนัก และอาจมีระดับสูงไหลล้นตลิ่งเข้าไปท่วมเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูกได้เองตามธรรมชาติ ส่วนในฤดูแล้งไม่มีฝนตกเลยน้ำในแหล่งน้ำประเภทบ่อ หนอง และบึง ซึ่งได้เก็บน้ำในช่วงฤดูฝนไว้นั้น อาจมีน้ำให้ใช้พอบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง แต่น้ำในแม่น้ำลำธาร และห้วยบางแห่ง อาจมีน้ำไหลลดน้อยลงไปหรือไม่มีเลยก็ได้ น้ำที่ไหลในแหล่งน้ำบนผิวดิน เรียกว่า "น้ำท่า" ซึ่งเป็นปริมาณน้ำท่าที่ไหลตามธรรมชาติในฤดูกาลต่าง ๆ จะมีจำนวนมากหรือน้อยอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ หลายประการดังต่อไปนี้ 1. ขนาดของพื้นที่ลุ่มน้ำหรือพื้นที่รับน้ำฝน พื้นที่ลุ่มน้ำหรือพื้นที่รับน้ำฝน หมายถึง พื้นที่บริเวณหนึ่งซึ่งเมื่อมีฝนตกจนเกิดน้ำท่วมขึ้นแล้ว น้ำจะไหลมารวมลงสู่ทางน้ำหรือลำน้ำสายเดียวกัน การที่จะหาว่าลำน้ำสายหนึ่งโดยธรรมชาติจะมีขนาดพื้นที่ลุ่มน้ำเท่าใดนั้น ต้องกำหนดจุดหรือตำแหน่งบนลำน้ำเสียก่อน แล้วจึงหาพื้นที่ลุ่มน้ำด้านเหนือขึ้นไป ซึ่งน้ำท่าทั้งหมดไหลลงมาสู่จุดนั้นได้ ขนาดของพื้นที่ลุ่มน้ำหรือพื้นที่รับน้ำฝนของตำแหน่งใด ๆ ที่กำหนดในลำน้ำ เช่น ตำแหน่งที่สร้างเขื่อนหรือฝาย เป็นต้น จึงมีอาณาเขตล้อมบรรจบกันเป็นวงปิดด้วยแนวสันปันน้ำ หรือแนวสันเนินสูงสุดเหนือตำแหน่งที่กำหนดนั้น โดยพื้นที่ลุ่มน้ำจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กสามารถหาได้จากแผนที่แสดงรายละเอียดภูมิประเทศ เช่น แผนที่มาตราส่วน 1: 50,000 ของกรมแผนที่ทหาร ซึ่งเป็นแผนที่แสดงรายละเอียดภูมิประเทศ และระดับความสูงต่ำของผิวดินที่ได้จัดทำครอบคลุมไว้ทั่วประเทศ แผนที่ดังกล่าวนี้นอกจากจะใช้ในราชการทหารแล้ว สำหรับงานด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดภูมิประเทศ เช่น งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการชลประทาน หรือเพื่อกิจกรรมด้านอื่น ๆ ก็สามารถใช้ในการวางโครงการหาขนาดพื้นที่ลุ่มน้ำเหนือแนวที่สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ หรือฝายประกอบการคำนวณเกี่ยวกับสภาพน้ำท่า และการพิจารณาอื่น ๆ ได้ด้วย 2. สภาพฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำ สภาพของฝนที่ตกในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำ มีอิทธิพลโดยตรงต่อน้ำท่าที่เกิดขึ้น ดังนี้ 2.1 ความเข้มของฝนที่ตก หมายถึง ปริมาณน้ำฝนที่ตกในหนึ่งหน่วยเวลา วัดเป็นมิลลิเมตรต่อนาที หรือวัดเป็นมิลลิเมตรต่อชั่วโมง ความเข้มของในที่ตกมีอิทธิพลเกี่ยวกับอัตราการไหลซึมของน้ำลงไปในดินแล้ว ปริมาณน้ำท่าที่ไหลบนผิวดินจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการเพิ่มของอัตราความเข้มของฝนที่ตก อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำท่าที่ไหลบนผิวดินจะไม่เพิ่มเป็นสัดส่วนโดยตรงกับจำนวนน้ำฝนที่เหลือจากการซึมสูญหายลงไปในดินเท่าใดนัก ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำฝนที่เหลือดังกล่าวในพื้นที่ลุ่มน้ำมักจะถูกเก็บขังในลักษณะน้ำนองในที่ลุ่มก่อนที่จะไหลหลากเป็นน้ำท่า 2.2 ระยะเวลาที่ฝนตก ระยะเวลาที่ฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดน้ำท่าหรือไม่ หรือเกิดจำนวนมากหรือน้อยเพียงไร เมื่อฝนตกครั้งหนึ่ง ๆ นอกจากนั้นระยะเวลาที่ฝนตกยังมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการลดอัตราการไหลซึมของน้ำลงไปในดินอีกด้วย ดังนั้นเมื่อมีฝนตกเป็นระยะเวลานาน ๆ แล้ว ย่อมจะเกิดน้ำท่าได้มากเช่นกัน แม้ว่าอัตราความเข้มของฝนที่ตกในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำอยู่ในเกณฑ์ปานกลางก็ตาม 2.3 การแผ่กระจายของฝนที่ตกในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำ สภาพฝนที่ตกแผ่กระจายสม่ำเสมอตลอดทั่วพื้นที่ลุ่มน้ำ จะทำให้เกิดน้ำท่าไหลมาจำนวนมาก สำหรับลุ่มน้ำขนาดใหญ่การเกิดน้ำท่วมมักจะเนื่องมาจากฝนธรรมดา ที่ตกครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของลุ่มน้ำมากกว่าฝนตกหนึกแต่ตกไม่แผ่กระจายไปตลอดทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำ 3. ลักษณะและส่วนประกอบของพื้นที่ลุ่มน้ำ ลักษณะรูปร่างของพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งได้แก่ ความยาว และความกว้างของพื้นที่ลุ่มน้ำโดยเฉลี่ย ระดับความสูง และความลาดชันของพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำ ชนิดของดิน สภาพพืชที่ปกคลุมพื้นที่ ความชุ่มชื้นของดินก่อนฝนตก ตลอดจนแนวทิศทางของพื้นที่ลุ่มน้ำ ฯลฯ ต่างก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจำนวนน้ำท่าไหลบนผิวดินลงสู่ลำน้ำต่าง ๆ



แหล่งนำใต้ผิวดิน
แหล่งน้ำใต้ผิวดินแหล่งน้ำธรรมชาติอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งให้น้ำสำหรับทำการชลประทานได้ คือ แหล่งน้ำใต้ผิวดิน ในท้องที่ซึ่งไม่มีแหล่งน้ำบนผิวดินนั้น มนุษย์รู้จักการนำน้ำจากแหล่งน้ำใต้ผิวดินขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ สำหรับการอุปโภค บริโภค และสำหรับใช้เพาะปลูกมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วน้ำที่มีอยู่ใต้ผิวดิน คือ น้ำที่ได้มาจากน้ำฝนที่ตก แล้วซึมผ่านลงไปสะสมอยู่ในช่องว่างของดิน ทราย และกรวด ตลอดจนรอยแตกและโพรงของหินที่อยู่ใต้ผิวดินนั้น เมื่อขุดบ่อลงไปจนถึงชั้นที่มีน้ำสะสมอยู่ เช่น ชั้นทราย และกรวด ซึ่งน้ำไหลผ่านได้ดี เวลาใดที่นำน้ำขึ้นไปใช้ทำให้น้ำในบ่อลดลง ก็จะมีน้ำไหลเข้ามาแทนที่อยู่เสมอ บ่อน้ำที่ใช้สำหรับการชลประทานจะมีขนาดที่เหมาะสมอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของชั้นทราย หรือชั้นกรวดที่เป็นแหล่งสะสมน้ำ และปริมาณน้ำที่ต้องการใช้เป็นหลัก แต่โดยทั่วไปแล้วบ่อน้ำใต้ดินแห่งหนึ่ง ๆ จะช่วยพื้นที่เพาะปลูกได้จำนวนไม่มากนัก